โหมดการทำงาน WiFi ของ ESP8266 ชิพ IoT ยอดนิยมที่น่าใช้งาน

Cytron Thailand
2 min readSep 22, 2021
ESP8266 ชิพ IoT ยอดนิยมสำหรับงานด้าน IoT

หากเราพูดถึงการเชื่อมต่อ WiFi ของตัว ESP8266 เราก็อาจจะนึกถึงเพียงแต่ลักษณะที่ Client ทำการเชื่อมต่อกับ Access Point เพียงรูปแบบเดียว แต่รู้หรือไม่ว่า ตัวชิพ ESP8266 มีโหมดการทำงาน WiFi ทั้งหมด 3 รูปแบบ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

โหมดที่ 1 STA (Station Mode)

ในโหมดนี้ ESP8266 จะทำการติดต่อสื่อสารแบบ 1:1 กับตัว Access Point ที่ทำหน้าที่กระจายสัญญาณให้กับตัวบอร์ด โดยตัว Access Point ที่เราพูดถึงนั้น อาจเป็นได้ทั้ง Access Point ที่ทำหน้าที่ปล่อยอินเตอร์เน็ตจากผู้ให้บริการ หรืออาจเป็น ESP8266 อีกตัวที่ทำหน้าที่เป็น Access Point ก็ได้ โดยลักษณะการทำงานของโหมดนี้ มีไว้เพื่อการส่งผ่านข้อมูลหรือรับข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็น Access Point และ ESP8266 ซึ่งการใช้งานโหมดนี้นั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดชื่อ SSID ของ WiFi ที่เราต้องการใช้งานไว้ในโค้ดโปรแกรมของเราตั้งแต่ต้น เพื่อให้ ESP8266 ทำการเชื่อมต่อกับ WiFi ที่เรากำหนดไว้หลังจากเริ่มทำงาน

ESP8266 เชื่อมต่อสื่อสารแบบ 1:1 กับ Access Point

โหมดที่ 2 AP (Access Point Mode)

ในโหมดนี้ ESP8266 จะทำหน้าที่เป็น Soft-AP (Software Access Point) เพื่อทำหน้าที่ปล่อยสัญญาณ WiFi โดยเหมาะสำหรับใช้งานในลักษณะที่ ESP8266 ทำงานแบบ standalone คือไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับ Access Point ตัวอื่น แต่อาศัยให้อุปกรณ์ตัวอื่นเข้ามาเชื่อมต่อกับสัญญาณ WiFi ของตนเองที่ปล่อยออกมา จึงเหมาะสำหรับการใช้งานนอกสถานที่ เพื่อการรับหรือส่งข้อมูลโดยตรงจากอุปกรณ์ที่มาเชื่อมต่อกับ WiFi ของ ESP8266 เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่ง ESP8266 ตัวอื่น

ESP8266 เชื่อมต่อสื่อสารแบบ 1:>1 กับ Client อื่นๆ เช่น สมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์

โหมดที่ 3 AP+STA (Access Point Mode+ Station Mode)

ในโหมดนี้หากท่านที่เคยใช้งานอุปกรณ์ IoT ในปัจจุบันอาจจะพอคุ้นเคยกันมาบ้าง เพียงแต่รูปร่างหน้าตา UI สำหรับการเชื่อมต่อใช้งานของผลิตภัณฑ์ที่มีการจัดจำหน่ายนั้นจะดูสวยงามมากกว่า โดยในโหมด AP+STA นี้ ESP8266 จะทำหน้าที่ทั้ง เป็น Access Point ที่ปล่อยสัญญาณ WiFi และเป็น Client ที่เชื่อมต่อกับ Access Point ซึ่งด้วยความสามารถที่กล่าวมานี้นั้น ทำให้โหมดนี้ได้รับความนิยมในการนำไปใช้งานกับอุกรณ์ที่ต้องมีการตั้งค่าให้เชื่อมต่อ WiFi ในการใช้งานครั้งแรก อาทิ อุปกรณ์ IoT ที่ไม่สามารถแก้ไขโค้ดโปรแกรมโดยผู้ใช้งานได้ โดยในครั้งแรกที่ใช้งาน ตัวอุปกรณ์ที่ใช้ ESP8266 เป็นส่วนประกอบจะทำการปล่อยสัญญาณ WiFi (Soft AP) ออกมา เพื่อให้ผู้ใช้งานทำการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ เพื่อทำการป้อนกำหนดข้อมูลที่ต้องการจากผู้ใช้งาน เช่น ชื่อ WiFi SSID, รหัสผ่าน หรือข้อมูลอื่นๆที่ต้องการ หลังจากบันทึกข้อมูลแล้ว ตัว ESP8266 จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้งาน โดยที่จะทำการเชื่อมต่อกับ Access Point ตามที่เราได้ป้อนข้อมูลเข้าไปในขั้นตอนข้างต้น

สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับ ESP8266 เพื่อป้อนข้อมูลเกี่ยวกับ WiFi ที่ต้องการให้ ESP8266 เชื่อมต่อ แล้ว ESP8266 จึงไปเชื่อมต่อกับ WiFi ที่ได้รับข้อมูลมาในภายหลัง

หากสนใจสั่งซื้อบอร์ดสำหรับนักพัฒนาที่ใช้งานชิพ ESP8266 ไปทดลองใช้งานโหมดการทำงานของ WiFi ตามที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสั่งซื้อจากทาง Cytron Thailand ได้ที่

หรือสามารถสั่งซื้อผ่านเจ้าหน้าที่ผ่านทาง Cytron Line Official Account

หรือทางแชทของ Facebook Page : Cytron Thailand

--

--

Cytron Thailand
Cytron Thailand

No responses yet